Osho
หมวดหมู่ : Book ,  หนังสือศาสนาและปรัชญา , 
Share
เชาวน์ปัญญา คำง่ายๆ อย่างคำว่า Intelligence ซึ่งเป็นชื่อของหนังสือ ถ้าสื่อกันโดยทั่วไปก็คงจะเข้าใจในทำนองที่ว่าเป็นความฉลาดปราดเปรื่องที่การศึกษาสามารถสร้างหรือพัฒนาเพิ่มเติมขึ้นมาได้ แต่ครั้นเมื่อได้อ่านเนื้อหาข้างในก็จะพบว่า Intelligence ที่โอโช่กล่าวไว้นี้ เป็นสิ่งที่มีพร้อมอยู่แล้วในตัวคนทุกคน มีพร้อมมาตั้งแต่ตอนแรกเริ่มชีวิต ติดอยู่ก็แต่ตรงที่ว่าเมื่อชีวิตดำเนินไป เงื่อนไขต่างๆ นานาก็เริ่มเข้ามาบดบังปัญญาที่มีมาแต่เดิมนี้ เปรียบได้กับน้ำพุที่พร้อมจะพวยพุ่งขึ้นมาจากผิวดิน หากแต่ว่าถูกหินก้อนใหญ่ปิดทับเอาไว้ ทำให้มันไม่สามารถพุ่งขึ้นมาได้ สิ่งที่โอโช่เสนอไว้ก็คือการนำก้อนหินที่ปิดทับนี้ออกไปผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “การเจริญภาวนา” หรือ “Meditation” การเจริญภาวนาที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงแค่การนั่งหลับตาทำสมาธิเท่านั้น หากแต่หมายถึงการฝึกสติรู้ตัว ฝึกตามรู้ ตามดูกาย ตามดูใจ เป็นการฝึกที่ทำให้คนเราสามารถ “ตอบสนอง” ต่อปัจจุบันขณะได้ โอโช่ใช้คำว่า “ ตอบสนอง” หรือ “Response” เพื่อต้องการจะแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างคำนี้กับคำว่า “ตอบโต้” หรือ “React” ซึ่งท่านได้อธิบายต่อไปว่าการตอบโต้นั้นเป็นเรื่องของความคิด เป็นสิ่งที่ “ติดอดีต” เป็นสิ่งที่ทำไปโดย “ไม่รู้ตัว” ในขณะที่การตอบสนองนั้นเป็นเรื่องที่เป็นปัจจุบันและเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์อย่างยิ่ง หนังสือเล่มนี้ได้วิพากษ์วิจารณ์จุดอ่อนของระบบการศึกษาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งได้ชี้ช่องทางการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็นไว้ ผมเชื่อว่าถ้าเรามีใจที่ “กว้างพอ” พร้อมที่จะรับสิ่งที่โอโช่เสนอนี้ และมีใจที่ “ว่างพอ” ที่จะนำแนวคิดเหล่านี้มาปรับใช้ในบริบทของสังคมไทย ก็จะเป็นอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ต่อการศึกษาของไทยในอนาคต