ประวิทย์ สายสงวนวงศ์
หมวดหมู่ : หนังสือสารคดี ,  Book ,  หนังสือประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม , 
แบรนด์ : สำนักพิมพ์มติชน
Share
หลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองสยามใน พ.ศ. 2475 บรรยากาศทางการเมืองของไทยได้เปิดกว้างมากขึ้น กลายเป็นพื้นที่ให้ชาวอีสานเข้ามามีส่วนร่วมและแสดงออกทางการเมืองในฐานะพลเมืองของรัฐไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักการเมืองอีสานที่เข้ามาทีส่วนร่วมในเวทีการเมืองระดับชาติ ด้วยการสนับสนุนการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญและร่วมเสนอแนวทางการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ขณะที่กลุ่มชาวบ้านในชนบทภาคอีสานที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงเวทีการเมืองระดับประเทศ ก็แสดงออกถึงความคาดหวังต่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมือง
แต่การตื่นตัวทางการเมืองของชาวอีสานเหล่านี้ไม่ได้เป็นผลมาจากการเปิดกว้างทางการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เท่านั้น ทว่าเป็นพัฒนาการที่มีความต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เปลี่ยนแปลงสถานภาพของผู้คนและพื้นที่ภาคอีสานจากปริมณฑลแห่งอำนาจให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติสมัยใหม่ ผ่านการบูรณาการเชิงอำนาจ การบูรณาการเชิงพื้นที่ และการบูรณาการเชิงความคิด ซึ่งมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 2430 เป็นต้นไป เป็นผลให้ผู้คนในภาคอีสานเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย ตลอดจนการมีสำนึกทางการเมืองที่นำไปสู่การความเคลื่อนไหวและการแสดงออกทางการเมืองต่างๆ กระทั่งการปกครองแบบประชาธิปไตยส่งผลให้การเมืองไทยเปิดกว้างมากขึ้น ชาวอีสานจึงได้ใช้เวทีการเมืองใหม่เป็นพื้นที่ในการแสดงออก ตลอดจนการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขันในขบวนการเสรีไทย
แม้ว่าภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 จะส่งผลให้บทบาทของนักการเมืองอีสานที่มีความโดดเด่นหลายคนต้องถึงจุดจบจากความพยายามกวาดล้างศัตรูทางการเมืองของรัฐบาลทหาร “แต่กระนั้นพลังการเคลื่อนไหวของมวลชนในภาคอีสานได้ถูกจุดประกายและหยั่งรากลึกลงแล้ว การต่อสู้ของพวกเขายังดำเนินต่อไปจากรุ่นสู่รุ่นตราบที่ระบอบอำนาจนิยมและปัญหาความทุกข์ยากของชาวอีสานยังคงดำรงอยู่”