ในทางประติมานวิทยา คัมภีร์ที่เป็นหลักในการสร้างสรรค์ศิลปกรรมทางศาสนาในศิลปะอินเดียและเอเชียอาคเนย์นั้น เรียกว่า “คัมภีร์ศิลปศาสตร์” อันมีทั้งในศาสนาฮินดูและในพุทธศาสนามหายาน คัมภีร์ประเภทนี้จึงได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องโดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะเพื่อให้ในการอ้างอิงกฎเกณฑ์ทางประติมานวิทยาที่มีผลต่องานศิลปกรรม
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างคัมภีร์ศิลปศาสตร์กับงานประติมากรรมนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงการส่งอิทธิพลจากคัมภีร์สู่ศิลปกรรมเท่านั้น แต่ยังอาจมีความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นๆ ด้วย เช่น ศิลปกรรมส่งอิทธิพลสะท้อนกลับไปให้คัมภีร์ในบางกรณี หรือการเป็นอิสระซึ่งกันและกันระหว่างคัมภีร์กับงานศิลปกรรม ซึ่งความสัมพันธ์ทั้งในในแบบปกติและแบบพิเศษ คือจุดมุ่งหมายสำคัญสำหรับการวิจัยเรื่อง “ประติมากรรมฮินดู-พุทธในศิลปะอินเดีย กับคัมภีร์ศิลปศาสตร์ภาษาสันสกฤต” นี้
เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการความสัมพันธ์ดังกล่าว การศึกษานั้น จำเป็นต้องศึกษาคัมภีร์ศิลปศาสตร์ภาษาสันสกฤตด้วยการแปลบทโศลกหรือเนื้อหาที่สำคัญทางประติมานวิทยาก่อน (บทที่ 2-3) แล้วจึงศึกษาเปรียบเทียบกับศิลปกรรมในแต่ละกรณีศึกษา ก่อนที่จะศึกษาระบบความสัมพันธ์ระหว่างคัมภีร์และศิลปกรรมในภาพรวม ทั้งในศิลปะอินเดีย (บทที่ 4) และศิลปะเอเชียอาคเนย์ (บทที่ 5)