13 เรื่องสั้นใน "ความน่าจะเป็น" ทำให้นักเขียนหน้าใหม่ที่ชื่อ "ปราบดา หยุ่น" ได้รับรางวัลซีไรต์แห่งปี พ.ศ. 2545 และมีเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม ทั้งด้านบอกและลบในด้านบวก เรื่องสั้นชุดนี้ได้รับการนิยามเป็นวรรณกรรมแนว "โพสต์โมเดิร์น" ที่สร้างความแปลกใหม่ในแวดวงวรรณกรรมไทย ส่วนในด้านลบ ผลงานของปราบดาถูกวิจารณ์ว่าทำภาษาวิบัติ ไม่สะท้อนปัญหาสังคม และไม่มีความ "เป็นไทย" อย่างไรก็ตาม "ความน่าจะเป็น" ได้กลายเป็นหนังสือขายดีเป็นผลงานของปราบดาที่คนอ่านรู้จักอย่างกว้างขวางที่สุด และได้ตีพิมพ์ซ้ำต่อเนื่องมาตลอดนับตั้งแต่การพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2543 นอกจากนั้นยังเป็นผลงานของปราบดาที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นมากที่สุด อาทิ อังกฤษ ญี่ปุ่น อิตาเลียน และจีน
ความเป็น "ปรากฏการณ์" ของ "ความน่าจะเป็น" อาจจะผ่านไปแล้ว แต่ความสนใจในเรื่องสั้นชุดนี้ ยังคงดำเนินไปทั้งในไทยและต่างประเทศ และยังคงเป็นผลงานที่จุดประกายสำหรับข้อถกเถียง การตั้งคำถาม และการค้นหาคำตอบ ได้อย่างมีนัยสำคัญอยู่เช่นเดิม