"น้ำตาเหือด แล้วเลือดตก : สาธกการเมืองไทยในวรรณกรรมโลก" ของ "อาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล" เล่มนี้ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นอาการสุดขั้วของการประหวัดที่ว่า ชนิดที่ว่าใช่แต่เพียงคนเขียนเท่านั้น กระทั่งคนอ่านก็พานจะต้องตกอยู่ในภาวะเดียวกันไปเสียทั้งหมด ทั้งนี้เพราะงานเขียนชุดนี้ล้วนตีพิมพ์อยู่ในวารสาร อ่าน ในทศวรรษ 2550 ในท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองที่มิใช่เป็นเพียงสงครามระหว่างสีดังที่มักเรียกกัน หากยังเป็นสมรภูมิโรมรันระหว่างฝ่าย "ซาบซึ้ง" น้ำตาไหล กับฝ่ายที่น้ำตาเหือดแล้วเลือดไหล...อันเป็นปัจจัยให้ต้องอาศัยการประหวัดมาช่วย ทำให้ความหมายของสิ่งที่พูดได้บ้างไม่ได้บ้างในระหว่างสงครามนั้นแจ่มชัดแหลมคมขึ้น
หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามเสนอในแนวเปิดวรรณกรรมมาอ่านชีวิต รวมถึงชวนคิดเรื่องการเมือง ด้วยความเชื่อว่า คุณค่าของเรื่องราวมนุษย์ ที่พรรณนาในรูปวรรณกรรมซึ่งมาจากประสบการณ์ และจินตนาการ ที่นอกเหนือไปจากที่เราแต่ละคนมีอยู่อย่างจำกัด คงช่วยให้เรามองสรรพสิ่งจากมิติต่าง ๆ ตั้งแต่ความพร้อมเพื่อให้พ้นจากความยึดถือในคตินิยม และรูปนามใด ๆ ไปจนถึงการไม่ลดทอนความยุ่งยากของโลกและชีวิต มาเป็นเพียงโวหารจากแม่พิมพ์ความคิด