"คำพิพากษา" เป็นนวนิยายประพันธ์โดย "ชาติ กอบจิตติ" เป็นเรื่องราวชีวิตของภารโรงนามว่า "ฟัก" ณ โรงเรียนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในตำบล ฟักเป็นคนดี มีเมตตา แต่เขานี้เองได้ตกเป็นเหยื่อของ "คำพิพากษา" จากสังคม ที่ได้ทำร้ายเขาเสียจนเสมือนว่าเขานั้นได้ตายทั้งเป็น ความดีที่สะสมมานั้นได้กลายเป็นสิ่งไร้ค่า และทำให้เขานั้นถูกเหยียบย่ำโดยคำกล่าวหาว่าร้ายต่าง ๆ นานาของชาวบ้าน แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของค่านิยมสังคม ที่มีผลกระทบอันรุนแรงต่อปัจเจกบุคลที่ไม่ได้มีหน้ามีตาในสังคม เนื้อเรื่องได้นำเสนอเนื้อหาที่มีความรุนแรง แต่กระนั้นก็แฝงไปด้วยความรู้และข้อคิดที่น่าสนใจว่า จริงหรือ? ที่ศีลธรรมนำพาซึ่งความสงบสุขมาสู่เรา
เนื่องจากชีวิตของภารโรงผู้นี้ได้ถูกทำร้ายโดยสาเหตุจากการกระทำความดีของเขา นวนิยายเรื่องคำพิพากษา จึงเป็นการเสนอเรื่องราวแนวคิดของคนมีฐานะเป็นปัจเจกชน ที่มักตกเป็นเหยื่อของความเชื่อ และคำตัดสิน ของสังคมไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม ส่งผลให้บุคคลนั้นต้องอ้างว้างโดดเดี่ยวทุกข์ทรมาน ทั้งร่างกายและจิตใจ ผู้เขียนได้สร้างเรื่องราวโดยใช้สังคมชนบทไทยเป็นฉากมีตัวละครชื่อ "ฟัก" เป็นตัวเอกของการดำเนินชีวิต ปัญหารุมเร้าฟักมากมายจนดิ้นไม่หลุด เขาพยายามต่อสู้ เมื่อไม่มีทางออกจึงหนีจากโลกของความ "เป็นจริง" สร้างโลกใหม่ที่เขาหลงคิดว่าเป็นหนทางออกไปสู่อิสรภาพ ท้ายที่สุดเขาได้รับอิสรภาพที่แท้จริงนั่นคือ "ความตาย"