หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นสามส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเป็นการอรรถาธิบายแนวคิดเรื่องโลกสัจนิยมแบบทุนของ Mark Fisher ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ของเรา โดยเน้นไปที่ความพยายามของ Fisher ในการสร้างความเป็นการเมืองให้กับสุขภาพจิตเสียใหม่ในบริบทของอัตราความเจ็บป่วยทางจิตที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก
Fisher ไม่ได้จะบอกว่าความเจ็บป่วยทางจิตทั้งหมดมีสาเหตุมาจากทุนนิยม เขาไม่ใช่พวกที่มีทรรศนะแบบลดทอนทางเศรษฐกิจ (economic reductionist) หรือนิยัตินิยม (determinist) แต่ประเด็นที่เขาจะบอกมีอยู่ว่า การมองว่าความเจ็บป่วยทางจิตไม่มีความเกี่ยวข้องกับทุนนิยมเลยนั้นเป็นฐานคติที่ใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การรักษาอาการเจ็บป่วยทางจิตจึงไม่อาจไม่เกี่ยวกับการเมืองที่ต่อต้านทุนนิยมและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย กล่าวอีกอย่างก็คือ ความพยายามใด ๆ ก็ตามที่จะรักษาโรคซึมเศร้าโดยไม่เผชิญหน้ากับทุนนิยมเป็นได้เพียงการเลี้ยงไข้หรือทำให้อาการแย่ลง (ซึ่งยิ่งทำให้บริษัทยายักษ์ใหญ่รวยขึ้น อะไรแบบนี้) เท่านั้น
ในส่วนที่สอง ผมนำงานของนักวิชาการท่านอื่น ๆ มาเสริมแนวคิดของ Fisher ในเรื่องที่ว่าทำไมความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การงาน และความเพ้อฝันเรื่องการโยนความรับผิดชอบไปที่ปัจเจกล้วนเป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า สิ่งที่ต้องการจะสื่อในส่วนนี้ก็คือ การประเมินคุณค่าของงานเสียใหม่ การลดชั่วโมงทำงานลงขนานใหญ่ การเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมในด้านการจัดสรรกระจายทรัพยากรและความมั่งคั่งกลับสู่สังคม (redistributive justice) และการจัดตั้งการต่อสู้เพื่อล้มล้างทุนนิยม ล้วนเป็นยาต้านเศร้าที่เรานำมาใช้ได้ทั้งสิ้น
ในส่วนสุดท้าย ผมจะวิเคราะห์ลัดดาแลนด์ผ่านกรอบของโลกสัจนิยมแบบทุนและความทุกข์ทรมานทางจิต โดยถอดสารที่แสดงความต่อต้านทุนนิยมออกมาพร้อม ๆ กับชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของหนังเรื่องนี้