หนังสือเล่มนี้เลือกใช้ชื่อไทยว่า "ไกลกะลา" เพื่อเป็นการถ่ายความกลับมาสู่ต้นธารของมัน คือความรู้สึกจับใจของผู้เขียนต่อสำนวน "กบในกะลา" อันเขาอธิบายแก่ผู้อ่านในโลกภาษาอังกฤษว่ามีใช้ในภาษาไทยและอินโดนีเซีย แต่ในเมื่อต้นร่างหนังสือของเขาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อหนังสือจึงเป็นในเชิงอธิบายความว่า 'A Life Beyond Boundaries' คือชีวิตที่ไปพ้นจากกรอบจำกัดของความเป็นเขตแดนหรือพรมแดน อันหมายรวมได้ในหลายแง่ รวมถึงในแง่ของความเป็นชาติ ครั้นยามนี้เมื่อแปลเป็นฉบับพากย์ไทย จึงช่วยไม่ได้ที่ข้าพเจ้าจะแปลให้ชื่อนั้นย้อนกลับมาหาจินตภาพเดิมของผู้เขียนในโลกภาษาไทย อันเป็นจุดตั้งต้นที่กลายมาเป็นปลายทาง
สำนวนไทยว่า "กบในกะลา" นั้น เป็นที่เข้าใจกันอยู่ว่ามีความหมายถึงภาวะโลกแคบ คือไม่รู้เรื่องรู้ราว หรือมีความรับรู้น้อย หรือไม่เปิดหูเปิดตา ยึดมั่นแต่โลกแคบๆ ของตนว่าคือโลกทั้งใบ ครั้นในยุค ร่วมสมัย สำนวนนี้กลายมามีนัยถึงสังคมอันจำเพาะว่าคือไทย ที่มักถือว่าตนนั้นในทางหนึ่งสากลเสียยิ่งกว่าโลกทั้งใบ และในอีกทางก็เป็นโลกที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร จนเกิดเป็นวิสามานยนามพันทางของชื่อประเทศขึ้นใหม่ว่า กะลาแลนด์ ในแง่นี้ กะลา จึงเพิ่มนัยต่อความเป็นชาตินิยมขึ้นมาได้เหมาะเจาะโดยปริยาย สอดคล้องกับเจตนาของผู้เขียนที่จะสนทนาในประเด็นชาตินิยมนี้ อันเป็นประเด็นที่วงวิชาการระดับโลกยกให้เขาเป็นนักคิดคนสำคัญ ผู้สร้างคำอธิบายเชิง "ทฤษฎี" เกี่ยวกับมันขึ้นมา