"พลังแห่งสันติวิธี" เล่มนี้ พิจารณาสันติวิธีในฐานะจุดบรรจบกันระหว่างจริยศาสตร์และการเมือง โดยชี้ให้เห็นถึงข้อผูกมัดทางจริยธรรมที่ปรากฏขึ้นท่ามกลางความรุนแรง หนังสือเล่มนี้สนับสนุนสันติวิธีแบบก้าวร้าว (Aggressive Nonviolence) ซึ่งยอมรับถึงการมีอยู่ของสภาวะก้ำกึ่ง (Ambivalence) ระหว่างความรักกับความเกลียดชังภายในจิตใจ และพยายามโอบอุ้มอุดมคติแห่งการพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependency) รวมไปถึงข้อเรียกร้องในเรื่องความควรค่าแก่ความโศกเศร้า (Grievability) ในฐานะพื้นฐานของความเสมอภาคทางสังคมและการเมือง
หนังสือเล่มนี้เสนอว่าในการต่อต้านความรุนแรงนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจวิถีการทำงานของมันในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งรวมไปถึงการทำความเข้าใจว่าการกำกับควบคุมคุณค่าของชีวิต สามารถเกิดขึ้นผ่านฐานคติเชิงเชื้อชาติและเชิงประชากรต่าง ๆ ที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อการให้เหตุผลสนับสนุนความรุนแรง โดยรัฐและการ "ปล่อยให้ตาย" (Letting Die) ด้วยการแปะป้ายความรุนแรงไปไว้กับผู้ที่ต้องเผชิญกับผลกระทบของความรุนแรงที่มากที่สุดเสียเองได้อย่างไร