ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่รุมเร้าคนไทยเป็นระยะ อาจทำให้พวกเราหลายคนมัวแต่พะวงกับปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น จนลืมไปว่าปัญหาเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเป็นเพียงภาพสะท้อนของปัญหาเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกมานาน และเมื่อถึงเวลาก็แสดงอาการออกมาเป็นระยะ ภาครัฐเองก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจนละเลยการวางแผนระยะยาวให้ประเทศ
อาการอับจนเชิงปัญญาเป็นตัวบ่งชี้ประการหนึ่งของการติดกับดักรายได้ปานกลางของไทย ซึ่งมักเกิดกับประเทศที่พบว่าไม่สามารถเดินตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเดิมที่ใช้ได้ผลมาหลายทศวรรษได้อีกต่อไป ในกรณีของไทยก็เช่นกันเราต้องการกระบวนทัศน์ใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืนซึ่งหมายถึงระบบเศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัวสูงเพียงพอกับการดูแลสังคมไทยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ พูดอีกอย่างคือ เราต้องป้องกันปัญหา ‘แก่ก่อนรวย’ ให้ได้ความยั่งยืนยังต้องรวมถึงการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เท่าเทียมกันมากขึ้น สร้างโอกาสให้คนเล็กคนน้อยในการขยับฐานะทางเศรษฐกิจและเลื่อนชั้นทางสังคม นอกจากนั้นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติก็ต้องการกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะเติบโตอย่าง ‘เขียว’ จริงๆ
หนังสือเล่มนี้เป็นผลพวงจากโครงการวิจัยเรื่อง ‘โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ’ ของนักวิจัยในสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับนักวิจัยที่มีความสามารถนอกสถาบันในการสังเคราะห์และเสนอแนวทางใหม่ในการจัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ การพัฒนาคน การดูแลแรงงานนอกระบบ การส่งเสริมนวัตกรรม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม การสร้างระบบสวัสดิการที่เหมาะกับไทย การปฏิรูปการดูแลสุขภาพ เป็นต้น
การจัดการกับปัญหาที่ท้าทายยิ่งเหล่านี้ จำเป็นต้องมีกระบวนทัศน์ใหม่ของการจัดการเชิงสถาบันควบคู่ไปด้วย เช่น การมีระบบธรรมาภิบาลเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth-enhancing Governance : GEG) ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีขอบเขตที่กว้างขวางกว่าการป้องกันคอร์รัปชัน การกระจายอำนาจให้กลุ่มคนต่างๆ ในสังคมผ่านระบอบประชาธิปไตยที่ไม่รวมศูนย์เป็นการปูพื้นสู่การมีธรรมาภิบาลที่ดีและใช้ได้จริงดังกล่าว