ท่ามกลางโลกและสังคมทางการเมืองในปัจจุบัน "ระบอบเผด็จการ" ถือเป็นวิถีทางการเมืองแบบโบราณ ล้าสมัย ไม่พัฒนา จนคาดการณ์ไปต่าง ๆ นานา ว่าวิธีบริหารประเทศในลักษณะนี้ นับวันจะมีแต่ลดน้อยถอยลง ยากที่สังคมโลกจะยอมรับ แต่ความเป็นจริงในทุกวันนี้ ระบอบเผด็จการกลับยังดำรงคงอยู่ แม้หากเทียบกับระบอบประชาธิปไตยแล้ว ระบอบเผด็จการอาจน้อยลงตามสัดส่วน ทว่าในบางประเทศกลับเติบโต เข้มแข็ง และไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
หนังสือ "เผด็จการวิทยา" เล่มนี้ เป็นผลงานของ "พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์" นักคิดนักวิเคราะห์ทางการเมือง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้คัดสรรและเรียบเรียงจากคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์มติชน รวมเป็นหนังสือเล่มนี้ที่ทำหน้าที่เป็นดุจกระจกเงา สะท้อนภาพความจริงของระบอบเผด็จการในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยการแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่เพื่อให้ผู้อ่านทำความเข้าใจได้ง่าย นับแต่ทฤษฎีว่าด้วยแนวคิดพื้นฐาน วัฒนธรรมและอำนาจนิยม กองทัพและความมั่นคง การสื่อสารในยุคสมัยเผด็จการและการเคลื่อนไหวทางสังคม รัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง เศรษฐกิจและนโยบายสาธารณะ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยและบทเรียนจากต่างประเทศ รวมถึงความปรองดองสมานฉันท์และสังคมยุคหลังเผด็จการ
ทั้งหมดก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ความเจริญก้าวหน้าไม่ได้หมายมุ่งไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเพียงเท่านั้น แต่จงระวังการปรากฏตัวของเผด็จการในยุคสมัยใหม่ ที่แม้อาจมีข้อดีอยู่บ้างแต่แท้จริงก็ยังเป็นสิ่งที่แตกต่างจากระบอบประชาธิปไตย เพราะระบอบเผด็จการไม่ว่ารูปลักษณ์ใด ย่อมถือเป็นความคิดและการกระทำที่สังคมโลกไม่อาจยอมรับได้นั่นเอง