รวมแก่นความคิดจากหนังสือธุรกิจระดับโลก 9 เล่ม ที่อดีตนายกฯ ทักษิณนำมาแนะแต่ไม่นำมาทำ พร้อมบทวิพากษ์การ "คิดใหม่-ทำใหม่" หากจะถามถึงนักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าที่ออกมาวิพากษ์การบริหารประเทศของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร อย่างเอาจริงเอาจังที่สุดคนหนึ่งแล้วล่ะก็ หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ ดร.ไสว บุญมา รวมอยู่ด้วย เนื่องด้วยประสบการณ์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากทั่วโลกกว่า ๓๐ ปี ทำให้นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหญ่ท่านนี้มี คลังข้อมูลและความรู้ อย่างเหลือเฟือในการวิเคราะห์วิพากษ์นโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ย้อนกลับไป 1-2 ปีที่แล้ว ขณะที่"กูรู"กว่าค่อนประเทศกำลังสรรเสริญนโยบาย คิดใหม่-ทำใหม่ ของนายกฯ ทักษิณอย่างมืดฟ้ามัวดิน พร้อมประสานเสียงไปในทางเดียวกันว่า นายกฯ ท่านนี้จะพาประเทศไทยเข้าสู่ยุคทองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ ดร.ไสว เป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาสวนกระแสเขียนเตือนผ่านคอลัมน์ประจำของตัวเองใน กรุงเทพธุรกิจ และ เนชั่นสุดสัปดาห์ อย่างต่อเนื่องว่า นายกฯ ทักษิณน่าจะกำลังนำพาประเทศสู่ทิศทางแห่งความเสี่ยงและความเสื่อมมากกว่า ผมพยายามทักท้วงมาตลอดแม้จะต้องทะเลาะกับใครต่อใครหลายคน รวมทั้งเพื่อนรักบางคนด้วย มันอาจเป็นชะตาของชาติไทยที่จะต้องไปทางนั้น ผมดีใจที่ไม่ใช่เป็นคนเดียวที่ รู้ทัน บางทีมันจะยังไม่สายเกินไปกระมัง ดร.ไสว กล่าวไว้ครั้งหนึ่งในการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ท่ามกลางกระแส ขาขึ้น อย่างสูงสุดของนายฯ ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2546 ดร.ไสว ได้เขียนหนังสือ ประชานิยม: หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย? (สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์) ซึ่งเป็นการนำเสนอบทเรียนคลาสสิกทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาและประเทศไทย และนโยบายแนวประชานิยมอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก เพื่อให้ข้อคิดกับผู้อ่านชาวไทยว่าปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือคิดใหม่แต่อย่างใด เพียงอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในอดีตจนถึงปัจจุบันของประเทศต่างๆเท่านั้น ทั้งนี้อาจแตกต่างในรูปโฉมภายนอกบางประการ แต่แก่นแท้แล้วไม่ได้ต่างกันเลย เราเก่งกว่าเขาจริง หรือว่าเราไม่ได้อ่านประวัติศาสตร์ (หน้า 197) และยังบอกอีกว่าหากรัฐบาลยังคงใช้แนวทางประชานิยมอย่างเข้มข้นต่อไป ประเทศไทยอาจต้องพบกับโศกนาฏกรรมในท้ายที่สุด ช่วงเวลานั้นผู้ปรารถนาดีต่อบ้านเมืองหลายท่านถึงกับออกมาค่อนขอดนักเศรษฐศาสตร์ที่พูดถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายแนวประชานิยมที่รัฐบาลกำลังดำเนินอยู่ว่าเป็นพวกนักวิชาการที่ไม่มีหัวใจ หรือไม่ก็เป็นพวกที่ติดอยู่กับทฤษฎีอันคับแคบของวิชาเศรษฐศาสตร์แนวเสรีนิยมอย่างไม่ลืมหูลืมตา ในยุคที่คำว่า ประชานิยม เริ่มเป็นที่สนใจของสังคมมากขึ้นเช่นปัจจุบัน ดร.ไสว บุญมา ถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ใครหลายคนนึกถึง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่อย่างใดหากดูจากประสบการณ์และสิ่งที่เขาเตือนไว้ก่อนหน้านี้ผ่านงานเขียนชิ้นต่างๆ และในปลายปี 2547 อันยุ่งเหยิงของสังคมไทย ดร.ไสว กลับมาอีกครั้งในรูปแบบพ็อคเก็ตบุ๊คที่แหวกแนวกว่าที่เคย นอกเหนือจากการพบกับผู้อ่านเป็นประจำทุกสัปดาห์ผ่านคอลัมน์ บ้านเขา-เมืองเรา และ บ้านนอก-เมืองนอก โดยคราวนี้มาพร้อมกับ คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์ อันมีที่มาจากคอลัมน์ยอดฮิต หิ้งหนังสือทักษิณ ที่เขียนติดต่อกันหลายเดือนในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ซึ่งเป็นการนำหนังสือภาษาอังกฤษเล่มดังที่นายกฯ ทักษิณแนะนำในคณะรัฐมนตรีจำนวน 9 เล่ม มาสรุปสาระสำคัญให้ผู้สนใจแต่อาจไม่ชำนาญภาษาฝรั่ง หรือผู้ที่ไม่มีเวลาอ่านฉบับเต็มๆได้อ่านกันแบบจุใจและย่อยง่าย เสริมด้วยบทวิพากษ์อย่างไม่เกรงอกเกรงใจแบบไม่ต้องปีนบันไดอ่านถึงการแนะอย่าง-ทำอย่างของท่านผู้นำที่หลายคนอ่านแล้วบอกว่า โดนใจแต่ยังน้อยเกินไป ทั้งนี้หนังสือทั้ง 9 เล่มที่ ดร.ไสว คัดสรรมาสรุปสาระสำคัญล้วนเป็นหนังสือที่ได้รับการกล่าวขวัญและติดอันดับขายดี Bestseller จากต่างประเทศมาแล้วทั้งสิ้น และบางเล่มก็อาจผ่านหูผ่านตาผู้อ่านชาวไทยมาบ้างแล้ว ส่วนบางเล่มก็เพิ่งวางจำหน่ายในต่างประเทศได้เพียงไม่กี่เดือน เช่น Ten Deadly Marketing Sins : Signs and Solutions ของปรมาจารย์การตลาดชื่อดัง ฟิลิป คอตเลอร์ เป็นต้น จากทั้ง 9 เล่ม มีอยู่เล่มหนึ่งที่ ดร.ไสว ให้ความสำคัญเป็นพิเศษถึงกับชำแหละเชิงวิพากษ์ละเอียดยิบแบบบทต่อบทอย่างน่าชื่นชมยิ่ง นั่นคือ The Mystery of Capital: Why Capitalism Triumphs in the West and Fails Everywhere Else ของนักเศรษฐศาสตร์ชาวเปรู เฮอนานโด เดอ โซโต อันเป็นที่มาของนโยบาย แปลงสินทรัพย์เป็นทุน ที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะทำให้คนจนหมดไปจากสังคมไทยในอีก 5 ปี ดร.ไสว กล่าวว่าหนังสือเล่มนี้มีความผิดพลาดเบื้องต้นทางความคิดอยู่ เพราะฉะนั้นหากรัฐบาลนำแนวคิดนี้มาใช้อย่างไม่รอบคอบ(แม้ว่าจะมีเจตนาดี) อาจนำความเสียหายใหญ่หลวงมาสู่ประเทศ และยิ่งหากกระบวนการในการจัดทำนโยบายมีความไม่โปร่งใสและผลประโยชน์แฝงเร้นเข้ามาเกี่ยวข้องดังที่สาธารณชนกำลังตั้งข้อสงสัยต่อนโยบายนับไม่ถ้วนของรัฐบาล ก็มีแนวโน้มสูงว่าสุดท้ายแล้วผู้ที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้อย่างเต็มปากเต็มคำจริง ๆ จะเป็นกลุ่มทุนผู้มีอำนาจและมหาเศรษฐีที่เกี่ยวข้องมากกว่าจะเป็นคนยากคนจนดังคำโฆษณา ลำพังการนำหนังสือระดับโลก 9 เล่มมาย่อยประเด็นให้อ่านกันง่ายๆไว้ในเล่มเดียว ถือเป็นความคุ้มค่าทางปัญญาในระดับหนึ่งแล้ว แต่การที่ผู้อ่านสามารถนำองค์ความรู้และแนวคิดจากหนังสือเหล่านั้นมาตรวจสอบ ผู้แนะนำ ได้ชัดเจนกว่าที่เคยว่าสิ่งที่เขาพร่ำแนะกับสิ่งที่เขาพร่ำทำเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่อย่างไรและมันจะนำไปสู่สิ่งใด ก็นับเป็นมูลค่าเพิ่มยกกำลังสองของ คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์ อย่างแท้จริง